เบื่อไหมครับ อยู่ดี ๆ ก็มีจุดขาว ๆ เป็นวง ๆ เกิดขึ้นภายในช่องปาก ซึ่งไอ้จุดขาว ๆ นี้แหละที่เขาเรียกกันว่า “แผลร้อนในหรือแผลภายในช่องปาก” เห็นจุดเล็ก ๆ แบบนี้ แต่ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนทรมาณใช้ได้เลย ยิ่งถ้าไม่ได้ดูแลรักษา จากแค่จุดเล็ก ๆ ก็กลายเป็นจุดที่ใหญ่ขึ้น ยิ่งทำให้ทรมาณมากขึ้นด้วย ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ชอบเป็นร้อนใน พวกจุดขาว ๆ มาเยี่ยมบ่อยมาก จึงต้องมี “ยาแก้ร้อนใน” หรือ “ยารักษาแผลภายในปาก” พกติดบ้านอยู่เสมอ ๆ วันนี้จึงขอมารีวิวยาแก้ร้อนในที่ผมใช้เป็นประจำให้ทุก ๆ คนได้ทราบกันครับ
สารบัญ
มาทำความรู้จักกับ “ยาแก้ร้อนใน” หรือ “ยารักษาแผลในปาก” กันสักนิด และคำแนะนำในการเลือกซื้อ
ยาแก้ร้อนในหรือยารักษาแผลในปาก ที่พบเจอได้ทั่วไป, วางขายตามร้านขายยา หรือในอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่ก็จะพบได้ 4 แบบหลัก ๆ ครับ นั้นก็คือ แบบรับประทาน, แบบยาป้าย, แบบแผ่นแปะ และแบบสเปรย์
- แบบรับประทาน : จะเป็นการรักษาจากภายในของร่างกาย โดยยาแก้ร้อนในส่วนใหญ่ที่พบเจอในไทยจะเป็นตัวยาที่ทำมาจากสมุนไพรจีน มีทั้งรูปแบบเม็ด, แบบผง และแบบน้ำ โดยแบบเม็ดก็จะทานง่าย สะดวก แต่ก็ต้องรอให้เม็ดยาละลายก่อนที่ตัวยาจะออกฤทธิ์ ส่วนแบบผงก็จะเสียเวลาชง แต่ร่างกายก็ดูดซึมได้ไวกว่านิดหน่อย บรรเทาอาการร้อนในได้ไวกว่าแบบเม็ด สุดท้ายแบบน้ำก็สะดวกสุด ยกดื่มได้ทันที แต่เหมือนฤทธิ์ก็จะอ่อนสุดด้วยเช่นกัน (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อยานั้น ๆ) นอกจากนี้ ก็มีรสชาติทั้งแบบขม, หวาน หรือจืด ๆ ให้เลือกซื้อกันด้วยครับ
- แบบยาป้าย : จากประสบการณ์จากรักษาอาการร้อนใน ผมว่าแบบยาป้ายใช้บรรเทาอาการได้ดีที่สุด และไวที่สุดด้วย โดยตัวเนื้อยาจะเป็นแบบครีม ๆ หรือขี้ผึ้ง และจะมีส่วนประกอบของ ไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์ ซึ่งเป็นตัวยาสำคัญในการรักษาแผลร้อนในครับ พอบีบตัวยาแล้วก็เอาไปป้ายบนแผลภายในช่องปาก ส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกดีขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ป้าย แต่เนื่องจากเป็นยาอันตราย ไม่ควรใช้บ่อยจนเกินความจำเป็นครับ
- แบบแผ่นแปะ : ก็ตามชื่อเลยคือ การเอาแผ่นแปะที่มีตัวยาผสมอยู่ มาทำการแปะบนแผลร้อนใน จากนั้นตัวยาก็จะซึมออกมาจากแผ่นแล้วเข้าไปทำการรักษาแผลร้อนในครับ ผมไม่ค่อยได้ใช้แบบนี้เท่าไร เพราะตอนใช้รู้สึกว่า ริมผีฝากไม่ค่อยสบาย มันเหมือนมีแผ่น ๆ มาแปอยู่ และแอบใช้ยากกว่าแบบยาป้ายด้วย ยิ่งถ้ามีแผลบนลิ้นหรือแผลในจุดที่เข้าถึงยาก ก็ทำให้แปะแผ่นไม่ได้ด้วยครับ
- แบบสเปรย์ : จะไม่ค่อยเห็นยาแก้ร้อนในแบบนี้ขายในไทยเท่าไรนัก ผมเองก็ยังไม่เคยใช้เช่นกัน เพราะผมคิดว่า มันน่าจะควบคุมทิศทางยายาก ใช้ไม่ค่อยสะดวก อีกทั้งแค่ใช้ยาแบบรับประทานกับแบบยาป้ายก็รักษาอาการร้อนในได้ดีอยู่แล้ว จึงไม่ได้สนใจยาแบบสเปรย์เลยครับ
แล้วจะซื้อยาแก้ร้อนในแบบไหนดี? ผมแนะนำว่า ถ้าไม่เป็นบ่อยมาก นาน ๆ เป็นที ก็ซื้อแบบยาป้ายมาใช้ก็ได้ครับ แต่ถ้ามีอาการบ่อย ๆ แสดงว่าภายในร่างกายอาจจะมีปัญหา ต้องปรับสมดุลจากภายใน ก็ซื้อแบบยารับประทานมาทาน แล้วก็ซื้อแบบยาแบบป้ายมาช่วยเสริมเมื่อมีอาการร้อนในแบบหนักมาก ๆ ด้วย เอาจริง ๆ ก็ซื้อมาเก็บติดบ้านไว้ทั้ง 2 แบบเลย จะดีที่สุดครับ ส่วนแบบแผ่นแปะกับแบบสเปรย์ผมไม่ค่อยแนะนำเท่าไร แต่ถ้าอยากจะลองหาซื้อมาใช้ก็ตามสะดวก แล้วมารีวิวบอกผมด้วยนะครับ
ตารางเปรียบเทียบรีวิว “ยาแก้ร้อนใน” หรือ “ยารักษาแผลในปาก” ยี่ห้อไหนดี
สำหรับใครที่ไม่มีเวลา แล้วอยากอ่านแบบสรุป พร้อมกับทั้งเปรียบเทียบยาแก้ร้อนใน ก็เข้าไปดูตารางที่ปุ่มด้านล่างได้เลยครับ
1. ยาแก้ร้อนใน ยี่ห้อ อ้วยอันโอสถ เขากุย
ราคาโดยประมาณ 45 / 135 บาท ต่อขวด 240 / 720 ml
ยาน้ำแก้ร้อนในเขากุย ถ้าดูจากแพ็กเกจแล้ว เหมือนเป็นยาสำหรับให้เด็ก ๆ ทานสะมากกว่า แต่จริง ๆ ผู้ใหญ่ก็สามารถทานได้ครับ โดยตัวยาทำมาจากสมุนไพรจีนถึง 6 ชนิด ได้แก่ เขากุย, เต็งซิม, กั๊วกิง, เลี้ยงเคี้ยว, กิกแก้ และกิมงิ่งฮวย (เห็นชื่อของแต่ละสมุนไพรนี้.. แอบเอามึน ๆ งง ๆ ไปตาม ๆ กัน) ซึ่งสมุนไพรจีนทั้งหมด เมื่อนำมาผสมผสานกันแล้ว จะมีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และยังช่วยแก้ไข้กับขับปัสสาวะอีกด้วย ซึ่งตัวยาก็มาในรูปแบบน้ำ มีสีใสเหมือนน้ำเปล่า ตอนแรกนึกว่า เปิดฝาแล้ว จะได้กลิ่นสมุนไพรจีนแบบขม ๆ ยา ๆ แต่กลับได้แต่กลิ่นหอม ๆ หวาน ๆ ของเฉาก้วย ไม่มีกลิ่นขม ๆ อยู่เลย สมกับที่ทำมาเพื่อให้เด็ก ๆ ทานครับ
ส่วนรสชาติก็จืด ๆ แต่ไม่จืดเหมือนน้ำเปล่า จะมีรสของเฉาก้วยนิด ๆ โดยรวมไม่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังทานยาเหมือนกับดื่มน้ำเปล่าซะมากกว่า และจากที่ได้ไปฟังเพื่อน ๆ ที่มีลูกเล็กมา พวกเขาบอกกันว่า ลูกตัวเองทานยายากเพราะขม แต่พอมาเจอกับเขากุย กลับทานได้สบาย ๆ ทานง่ายดี และทานง่ายกว่าพวกยาขม ๆ มาก แต่จากที่ผมได้ลองทานเขากุยเพื่อแก้ร้อนในดู ผมว่าถ้าเทียบเรื่องการรักษาให้หายแล้ว เหมือนเขากุยยังจะช้ากว่ายายี่ห้ออื่น ๆ และต้องทานค่อนข้างในปริมาณมาก ถึงจะเริ่มเห็นผล แต่ตัวยาก็ราคาไม่แพงและทานง่าย ถ้าใครเป็นพวกไม่ชอบทานยาขม ๆ หรือทานยายาก ผมแนะนำยาแก้ร้อนในอ้วยอันโอสถเขากุยเลยครับ
ยาน้ำแก้ร้อนในสีใส มีกลิ่นเฉาก้วย หอมหวาน รสชาติไม่ขม ทานง่ายมาก
ประเภท | น้ำ / รับประทาน |
ส่วนประกอบ | เขากุย 15 g / เต็งซิม 10 g / กั๊วกิง 10 g / เลี้ยงเคี้ยว 10 g / กิกแก้ 10 g / กิมงิ่งฮวย 10 g |
สรรพคุณ | แก้ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ |
การใช้ / รับประทาน | ผู้ใหญ่ทานครั้งละ 50-100 ml วันละ 4 ครั้ง / เด็กโตทานครั้งละ 25-50 ml / เด็กเล็ก(ต่ำกว่า 2 ขวบ) ทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง |
เลขทะเบียน | G 174 / 29 |
2. ยี่ห้อ NIDA ไตรโนโลน ชนิดป้ายปาก
ราคาโดยประมาณ 15 / 35 บาท ต่อ 1 / 5 g
ถ้าพูดถึงเรื่องการแก้ร้อนใน และการรักษาแผลภายในปากแล้ว ยาป้ายปากไตรโนโลนสีเขียวขาวน่าจะถูกคิดถึงเป็นอันดับแรก ๆ เพราะเป็นยาที่ใช้แล้วช่วยรักษาและบรรเทาอาการร้อนในได้ดีมาก เพียงแค่บีบยาไปป้ายแผลในปาก ก็รู้สึกดีขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ป้ายเลย และยิ่งถ้าได้เอาตัวยาไปป้ายแบบพอกหนา ๆ บริเวณแผลร้อนในก่อนนอน พอตื่นมาวันรุ่งขึ้นจะรู้สึกถึงอาการปวดแสบปวดร้อนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และอาการร้อนในจะทุเลาลงมาก ๆ เลยครับ
โดยตัวยาจะมีส่วนผสมของไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์ 0.1% ซึ่งเป็นตัวยาสำคัญที่ช่วยในการรักษา และยังมีส่วนผสมของขี้ผึ้ง จึงได้ตัวยามีลักษณะเหนียว ๆ สีขาวขุ่น และมีกลิ่นหอมของมิ้นท์ พอนำยาไปป้ายบนแผลแล้ว จะรู้สึกเย็น ๆ เหนียว ๆ และเหมือนมีเม็ดทรายเม็ดเล็ก ๆ เกาะอยู่บนแผล พอทาแล้วช่วยลดอาการปวดแสบได้ดี แต่จะแอบรู้สึกรำคาญนิดหนึ่ง เพราะเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในปาก และถ้าใครลิ้นอยู่ไม่สุข ก็จะชอบเอาลิ้นไปแตะ ๆ ดัน ๆ จนยามันหลุดออกหมดด้วยครับ
นอกจากนี้ แพ็กเกจของไตรโนโลนจะมีอยู่ 2 แบบคือ แบบหลอด 5 g และแบบซอง ๆ 1 g ผมแนะนำให้ซื้อแบบหลอดจะดีกว่า เพราะได้ปริมาณมากกว่า แบบซองปริมาณน้อยเกินไป ใช้แล้วแผลร้อนในอาจจะยังไม่ทันหายดี ตัวยาก็หมดแล้วครับ
ยาแบบขี้ผึ้ง สีขาว กลิ่นหอม ทาแล้วรักษาอาการร้อนในได้ดีสุด ๆ แต่ไม่แนะนำให้ซื้อแบบซอง เพราะได้ปริมาณยาน้อยมากก
ประเภท | ป้ายปาก |
ส่วนประกอบ | ไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์ 0.1% |
สรรพคุณ | รักษาแผลร้อนใน แผลในปาก |
การใช้ / รับประทาน | บีบยาลงบนปลายนิ้ว ประมาณ 1/4 นิ้ว แล้วป้ายลงบนแผลในปาก ปาดให้เป็นฟิลม์บาง ๆ ให้ทั่ว |
เลขทะเบียน | 1A 540/29 |
3. ยาแก้ร้อนใน ยี่ห้อ น้ำเต้าทอง
ยาแก้ร้อนใน ยี่ห้อน้ำเต้าทอง เป็นยาแก้ร้อนในชนิดรับประทานที่ผมแนะนำว่า ควรหาซื้อไว้ติดบ้านมาก ๆ โดยเฉพาะคนที่ชอบเป็นร้อนใน เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เวลาเป็นร้อนในแล้วทานยาขมน้ำเต้าทอง จะรู้สึกได้ว่าแผลร้อนในหรือแผลในปากทุเลามากขึ้น แต่อาจจะไม่ไวเท่าพวกยาป้ายที่เป็นการรักษาแบบโดยตรง แต่การทานยาน้ำเต้าทองจะเป็นการรักษาจากภายในร่างกาย โดยส่วนใหญ่ผมจะรู้สึกดีขึ้นภายใน 2-3 วัน เมื่อทานยาอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าแผลขนาดเล็ก หรือกำลังเริ่ม ๆ เป็นร้อนใน ก็รู้สึกดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ตอนนี้ก็ไปดูกันดีกว่าว่า ยาแก้ร้อนในน้ำเต้าทองมีแบบไหนขายกันบ้างครับ
3.1 น้ำเต้าทอง ยาขมแบบเม็ด ซองสีเขียว
ราคาโดยประมาณ 245 บาท ต่อ 1 กล่องใหญ่ ได้ 25 ซอง
แบบเม็ด ซองสีเขียวเป็นตัวที่ผมชอบซื้อมาทานมากที่สุด เพราะง่ายต่อการทานและสะดวกมากกก เพียงแค่แกะซองก็จะเจอกับยาเม็ดสีน้ำตาล จากนั้นจับโยนเข้าปาก แล้วดื่มน้ำตามก็เป็นอันจบ แต่รสชาติก็จะขมมาก ๆ ขมติดลิ้นเลยทีเดียว ถ้าใครไม่ชอบทานยาขม ๆ หรือทานยายาก ก็เลือกทานยาน้ำเต้าทองแบบหวาน ๆ ก็ได้ครับ แต่ผมชอบทานแบบขม มันขมสะใจดี ส่วนเวลาทาน ถ้าเอาตามที่ซองระบุ เขาจะให้ทานทีละแผงหรือ 4 เม็ด แต่ผมชอบทานทีละ 2-4 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับอาการของร้อนใน ถ้ารู้สึกว่ามีแผลร้อนในเยอะมาก อาการค่อนข้างหนักก็จะทานทีละ 4 เม็ด โดยเวลาทานที่สำคัญมากที่สุดก็คือ เวลาก่อนนอนครับ
เห็นเม็ดสีน้ำตาลเล็ก ๆ แบบนี้ แต่รสชาติขมร้ายกาจมาก
ประเภท | เม็ด / รับประทาน |
ส่วนประกอบ | ilex asprella champ / Rosa laevigata Michx / Grewia microcos / Cajanus indicus / Morus alba / Gentiana scabra Bunge |
สรรพคุณ | แก้ร้อนใน, ไข้, กระษัย, กระหายน้ำ และเจริญอาหาร |
การใช้ / รับประทาน | ผู้ใหญ่ทานครั้งละ 1-2 แผง วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เด็กลดลงครึ่งหนึ่ง |
เลขทะเบียน | G 407/29 |
3.2 น้ำเต้าทอง ยาหวานแบบผง ซองสีส้ม
ราคาโดยประมาณ 154 บาท ต่อ 3 กล่อง ได้ 15 ซอง
คราวนี้จะเป็นแบบผง จริง ๆ ผมไม่ค่อยชอบแบบผงเท่าไร เพราะมันต้องเอาไปชงละลายกับน้ำก่อนถึงจะทานได้ ผมรู้สึกว่าค่อนข้างยุ่งยากและเสียเวลา ไม่เหมือนแบบเม็ดที่ทานง่ายกว่า แต่แบบผงก็จะมีข้อดีตรงร่างกายดูดซึมเอาตัวยาไปใช้รักษาอาการร้อนในได้ไวกว่า ไม่ต้องรอให้ร่างกายย่อยเม็ดยา ซึ่งการทานแบบผงจะเหมาะมากสำหรับใครที่อยากหายจากอาการร้อนในไว ๆ ครับ โดยตัวผงก็มีลักษณะสีน้ำตาลอ่อน ผงไม่ค่อยละเอียดเท่าไร และมีกลิ่นเหมือนยา ๆ อยู่ด้วย โดยเมื่อดูวิธีการทานจากบนซองแล้ว ตัวซองจะบอกให้นำผงไปชงกับน้ำร้อน
แต่จริง ๆ ชงกับน้ำอุณหภูมิห้องก็ได้ครับ ผมก็ชอบชงกับอุณหภูมิห้องมากกว่า เอาช้อนคน ๆ ผงก็ละลายน้ำง่ายอยู่ และชอบตรงที่ไม่ต้องรอให้น้ำหายร้อนด้วย สามารถทานได้ในทันที ส่วนรสชาติก็ออกหวาน ๆ แต่ก็ไม่ได้หวานเหมือนขนม เป็นความหวานแบบยา ๆ และตอนที่ดื่มยาครั้งแรก จะรู้สึกเลยว่าเวลาที่น้ำไหลผ่านจุดขาว ๆ หรือแผลภายในปาก อาการปวดแสบปวดร้อนจะทุเลาลง ให้ความรู้สึกที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เวลาที่ผมดื่มจึงชอบอม ๆ ให้น้ำโดนแผลนาน ๆ ก่อนกลืนด้วย โดยรวมเป็นยาแก้ร้อนในอีกตัวที่ผมว่าดีมาก และเหมาะมากสำหรับคนที่ไม่ชอบยารสขม ๆ ครับ
ผงสีน้ำตาลอ่อน ไม่ค่อยละเอียดเท่าไร แต่ละลายน้ำง่ายอยู่ มีรสชาติหวานแบบยา ๆ กลิ่นก็แบบยา ๆ ด้วย
ประเภท | ผง / รับประทาน |
ส่วนประกอบ | N/A |
สรรพคุณ | แก้ร้อนใน, กระหายน้ำ |
การใช้ / รับประทาน | ใช้ 1-2 ซอง วันละ 3 ครั้ง โดยละลายในน้ำร้อน เติมน้ำตาลและน้ำแข็งได้ตามใจชอบ สามารถทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ |
เลขทะเบียน | G 314/29 |
3.3 น้ำเต้าทอง ยาขมแบบผง ซองสีฟ้า
ราคาโดยประมาณ 154 บาท ต่อ 3 กล่อง ได้ 15 ซอง
จากที่ผมได้ลองชงกับน้ำในอุณหูมิห้องดู ตัวผงดูจะละลายน้ำยากกว่า ผมใช้ช้อนคนไปนาน ๆ ยังมีเศษ ๆ ผงเหลืออยู่ที่ก้นแก้ว ไม่เหมือนซองสีส้มที่ละลายหายไปหมด อาจจะต้องชงกับน้ำร้อนตัวผงจึงน่าจะละลายได้ดีกว่าครับ พอได้ดื่มดู ความรู้สึกแรกเลยคือ ขม! ขมมากกกก ขมแบบติดลิ้นด้วย ขนาดว่าผมพอทานยาขม ๆ ได้ เจอตัวนี้เข้าไปไม่อยากทานเลย ผมต้องกลั้นใจดื่มให้หมดในเดียว จึงเป็นยาแก้ร้อนในที่ผมไม่แนะนำอย่างแรงสำหรับคนที่ไม่ชอบทานยาแบบขม ๆ ครับ
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้ทานมา ผมรู้สึกว่า ซองสีฟ้าจะช่วยบรรเทาอาการร้อนใน และหายได้ไวกว่าซองสีส้มรสหวาน ถ้าอยากหายไว ๆ คงต้องทนดื่มแบบรสขมซึ่งเหมือนกับทางสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” นั้นเองครับ
ผงดูจับตัวเป็นก้อน ๆ ละลายน้ำยาก และขม! ขมมาก ขมสุด ๆ !
ประเภท | ผง / รับประทาน |
ส่วนประกอบ | N/A |
สรรพคุณ | แก้ร้อนใน, ไข้, กระษัย, กระหายน้ำ และเจริญอาหาร |
การใช้ / รับประทาน | ใช้ 1-2 ซอง วันละ 3 ครั้ง โดยละลายในน้ำร้อน 1 แก้ว |
เลขทะเบียน | G 313/29 |
4. ยาแก้ร้อนใน ยี่ห้อ คาโนโลน ยาทาแผลในปาก
ราคาโดยประมาณ 15 / 50 บาท ต่อ 1 / 5 g
ยี่ห้อคาโนโลนเป็นยาแก้ร้อนในชนิดป้ายปากที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับยี่ห้อไตรโนโลนสีเขียวตัวด้านบน ด้านราคาก็พอ ๆ กัน แพ็กเกจก็เหมือน ๆ กัน (มีแบบซองและแบบหลอดขนาด 1, 5 g ตามลำดับ) และยังมีตัวยาสำคัญอย่าง ไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์ 0.1% เป็นส่วนประกอบเหมือนกันด้วย พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าอยากจะใช้ยาป้ายปากมารักษาอาการร้อนใน สามารถซื้อยี่ห้อไหนมาใช้แทนกันก็ได้ครับ แต่ทั้ง 2 ยี่ห้อจะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ลักษณะของตัวเนื้อยา โดยเนื้อคาโนโลนจะเป็นน้ำ ๆ มัน ๆ มากกว่า มีความเหนียวน้อยกว่า และมีกลิ่นหอมอ่อนกว่าด้วยครับ
ยาป้ายปากที่ใช้รักษาอาการร้อนในกับแผลในปากได้ดีอีกยี่ห้อ
ประเภท | ป้ายปาก |
ส่วนประกอบ | ไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์ 0.1% |
สรรพคุณ | รักษาแผลและบรรเทาอาการอักเสบในช่องปาก |
การใช้ / รับประทาน | บีบยาคาโนโลนพอประมาณ แล้วนำไปทาบริเวณที่เป็นแผล จากนั้นป้ายยาให้เคลือบแผลบาง ๆ วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร |
เลขทะเบียน | 1A 1754/28 |
5. ยี่ห้อ ตราใบห่อ ยาขมชนิดเม็ด
ราคาโดยประมาณ 25 บาท ต่อกล่อง 70 เม็ด
ถ้าดูจากดีไซน์ของแพ็กเกจแล้วละก็ ยาแก้ร้อนในยี่ห้อตราใบห่อแบบขมชนิดเม็ด จะเป็นยี่ห้อที่ดูโบร่ำโบราณมากที่สุด แต่ถ้าถามเรื่องสรรพคุณในการแก้ร้อนในแล้วละก็ ถือว่าเป็นอีกยี่ห้อที่ใช้ได้ดีเลยครับ โดยตัวยาทำมาจากสมุนไพรจีนอย่าง อึ่งงิ้ม และสมุนไพรไทยอย่าง ขมิ้นชัน, บอระเพ็ด และลูกกระดอม นำมาผสมกันแล้วอัดเม็ดกลมสีเขียวขี้ม้าอ่อน มีกลิ่นอมเปรี้ยวจากสมุนไพรนิด ๆ และให้รสชาติที่ ถ้าตอนตัวยายังไม่ละลาย ก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่ขมไม่จืด แต่พอน้ำลายเริ่มไปทำละลายเม็ดยาแล้ว มันจะให้รสที่ขมมาก ๆ ขมติดลิ้นไม่แพ้พวกยาแบบขมยี่ห้อบน ๆ เลยครับ ผมแนะนำว่า ให้อมน้ำแล้วค่อยจับเม็ดยาใส่ปาก จากนั้นก็กลืนรวดเดียวเข้าไปเลย จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความขมได้ครับ
และจากประสบการณ์ของผมเอง ตอนที่ผมเป็นร้อนในแล้วทานยาตัวนี้ โดยรวมจะให้ความรู้สึกที่เหมือนกับตอนทานยายี่ห้อน้ำเต้าทองแบบขมชนิดเม็ดเลยครับ และก็ไม่จำเป็นต้องทานปริมาณยาตามที่ฉลากยาระบุไว้ก็ได้ ส่วนใหญ่ผมจะทานที่ครั้งละ 2 เม็ด ไม่ได้ทานถึง 4 เม็ด ส่วนอาการร้อนในก็เหมือนจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ยิ่งถ้าดูแลตัวเองดี ดื่มน้ำมาก ๆ ก็ยิ่งช่วยให้หายได้ไวขึ้น
แต่ยาตัวนี้ นอกจากรักษาอาการร้อนในแล้ว ยังเป็นยาระบายแบบอ่อน ๆ อีกด้วย ตอนที่ผมทาน ผมอาจจะทานน้อยไปหน่อย เลยไม่เห็นผลในจุดนี้ แต่จากที่ได้ไปสอบถามเพื่อน ๆ มา เขาก็บอกว่า ทานแล้วก็ช่วยในเรื่องการขับถ่ายอยู่ แต่ก็ไม่ได้มากมายนักครับ
เม็ดสีเขียวขี้ม้าอ่อน รสชาติขม และนอกจากรักษาอาการร้อนในได้แล้ว ยังเป็นยาระบายอ่อน ๆ อีกด้วย
ประเภท | เม็ด / รับประทาน |
ส่วนประกอบ | อึ่งงิ้ม 30 g / ขมิ้นชัน 30 g / บอระเพ็ด 140 g / ลูกกระดอม 20 g และตัวยาอื่น ๆ |
สรรพคุณ | แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไขตัวร้อน และเป็นยาระบายอ่อน ๆ |
การใช้ / รับประทาน | วันละ 3 เวลา ก่อนหรือหลังอาหาร โดยผู้ใหญ่ทานครั้งละ 4 เม็ด เด็กทานครั้งละ 2 เม็ด หากต้องการทานเพื่อช่วยในการระบาย ให้ทานเพิ่ม 1-2 เม็ด |
เลขทะเบียน | G 198/28 |
6. ยาแก้ร้อนใน ยี่ห้อ ลอนนาเจล ใช้ทาในปาก
ราคาโดยประมาณ 15-40 บาท ต่อ 1 / 5 g
มาดูยาแก้ร้อนในชนิดป้ายปากกันอีกสักยี่ห้อกับ ลอนนาเจล เป็นยาป้ายที่มีแพ็กเกจเหมือนกับยี่ห้อยาป้ายด้านบน ๆ คือ แบบซอง 1 g และแบบหลอด 5 กรัม มีราคาขายที่พอ ๆ กัน และที่สำคัญมีตัวยาของ ไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์ 0.1% ในปริมาณเท่ากันเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยเช่นกัน ดูเผิน ๆ เหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ยี่ห้อลอนนาเจลจะแตกต่างตรงที่มีกลิ่นให้เลือกซื้อถึง 3 กลิ่นด้วยกันคือ กลิ่นเชอร์รี่, ส้ม และเป๊ปเปอร์มิ้นท์ โดยผมก็ได้ลองซื้อกลิ่นแบบเป๊ปเปอร์มิ้นท์ มารีวิวให้ได้ดูกันครับ
โดยตัวยามีสีขาวออกใส เนื้อมีความมัน ๆ และค่อนข้างเนียนละเอียด ไม่รู้สึกถึงเม็ดทรายเหมือนยี่ห้อไตรโนโลน ด้านกลิ่นก็ออกมิ้นท์ ๆ สมชื่อ แต่กลิ่นอ่อนไปหน่อย ถ้ากลิ่นแรงกว่านี้น่าจะหอมกว่าครับ พอได้ป้ายยาแล้ว แอบให้ความรู้สึกเหมือนกำลังทาลิปมันที่มีความมัน ๆ บนริมฝีปากมาก แต่ภายในช่องปากรู้สึกค่อนข้างสบายกว่ายาป้ายยี่ห้อบน ๆ เพราะเนื้อยาไม่มีเม็ดเล็ก ๆ เหมือนเม็ดทรายละเอียด จึงไม่รู้สึกสาก ๆ ปาก ส่วนเนื้อยาก็เกาะอยู่บนแผลได้ดี ไม่ร่วงหลุดออกง่าย ๆ และให้ความรู้สึกอุ่น ๆ เหมือนยากำลังออกฤทธิ์อยู่ ซึ่งก็ช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ป้ายยา โดยรวมเป็นยาป้ายแก้ร้อนใน และรักษาแผลในปากอีกยี่ห้อที่ใช้ได้ดีครับ
กลิ่นมิ้นท์อ่อนไปหน่อย ไม่รู้ว่ากลิ่นอื่น ๆ จะหอมแรงกว่านี้ไหมครับ
ประเภท | ป้ายปาก |
ส่วนประกอบ | ไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์ 0.1% |
สรรพคุณ | รักษาแผลในช่องปาก |
การใช้ / รับประทาน | ทา ลอนนาเจล ประมาณ 1/4 นิ้ว ตรงบริเวณที่ต้องการให้เป็นแผ่นบาง ๆ โดยไม่ต้องถูไปมา และทายาวันละ 2-3 ครั้งหลังอาหาร และก่อนนอน |
เลขทะเบียน | 1A 61/48 |
7. ยี่ห้อ ตราม้าปลาคู่ ยาชงแก้ร้อนใน จินจิน
ราคาโดยประมาณ 15-40 บาท ต่อ 1 / 5 g
ยาแก้ร้อนในแบบผงไว้ชงละลายน้ำอีกยี่ห้อที่น่าสนใจ ไม่แพ้ยี่ห้อน้ำเต้าทองก็คือ ยี่ห้อตราม้าปลาคู่จินจิน โดยเป็นยาแผนโบราณที่ทำมาจากสมุนไพรจีนหลากหลายชนิด (สามารถดูได้จากตารางด้านล่าง) ที่เมื่อนำมาผสมผสานรวมกันแล้ว จะมีสรรพคุณที่ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ และยังสามารถช่วยถอนพิษไข้ได้ด้วย ส่วนตัวผงก็มีสีน้ำตาลอ่อน ผงไม่ละเอียด มีเม็ดใหญ่และเล็กผสม ๆ กันไป และได้กลิ่นของสมุนไพรจีนแบบหอม ๆ ขม ๆ อยู่ด้วย พอเอาผงไปชงกับน้ำที่อุณหภูมิห้องก็ละลายน้ำได้ง่ายดี คนแป๊บ ๆ ก็ละลายหมดได้น้ำสีน้ำตาลทองใส ๆ ครับ
พอได้ลองดื่มดูก็ให้รสชาติที่ออกหวาน แต่หวานแบบเบา ๆ ไม่ได้หวานมาก และไม่ได้หวานแบบให้ความรู้สึกเหมือนกับการทานยาอยู่ โดยรวมถือว่าดื่มได้ง่าย ๆ น่าจะดื่มได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับพวกยาผงชงยี่ห้ออื่น ๆ และยังให้อารมณ์เหมือนกำลังดื่มน้ำชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ จึงเป็นยาแก้ร้อนในที่เหมาะมากสำหรับคนที่ไม่ชอบทานยาแบบขม ๆ หรือหวานแบบยา ๆ ส่วนเรื่องการรักษาอาการร้อนใน ก็ถือว่าได้ผลดี ดื่มสัก 2-3 วัน แผลร้อนในหรือแผลภายในปากก็มีอาการที่ดีขึ้น ไม่รู้สึกปวดแสบปวดร้อนมากแล้วครับ
ผงสีน้ำตาลอ่อน ไม่ค่อยละเอียดเท่าไร แต่ละลายน้ำง่ายอยู่ และเป็นยาแก้ร้อนในแบบผงชงผสมน้ำที่ทานได้ง่ายมากที่สุด
ประเภท | ผง / รับประทาน |
ส่วนประกอบ | แซตี่ 300 g / กิมงิ่งฮวย 250 g / ง่วงเซียม 300 g / ซั่วเต่ากึง 200 g / แฮโกวเช่า 300 g / ดอกเก๊กฮวย 200 g / แบะตง 200 g / แปะฮวยจั่วจีเช่า 200 g |
สรรพคุณ | แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไขตัวร้อน ถอนพิษไข้ |
การใช้ / รับประทาน | ทานครั้งละ 1-2 ซองโดยชงกับน้ำร้อน วันละ 2-3 ครั้ง เด็กลดลงตามสัดส่วน |
เลขทะเบียน | G 47/34 |
ได้เห็นรีวิวจัดหนักจัดเต็มกับ “ยาแก้ร้อนใน” ยี่ห้อไหนดี กันไปแล้วถึง 9 ตัวด้วยกัน สนใจอยากจะซื้อยาแก้ร้อนในตัวไหนไปติดประจำบ้านกันบ้างครับ? ผมแนะนำว่า ซื้อทั้งแบบยาป้ายและแบบยาทานมาติดไว้ในบ้านก็ดี โดยเฉพาะคนที่ชอบเป็นร้อนในหรือเกิดแผลในปากได้ง่าย ๆ พวกยาแก้ร้อนในมันเป็นยาที่มีโอกาสได้ใช้บ่อยจริง ๆ ครับ แต่วิธีการรักษาร้อนในได้ดีที่สุดก็คือ การป้องกันไม่ให้อาการร้อนในมันมาเกิดภายในปากของเรา ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพียงเท่านี้ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทาน/ใช้ยาแก้ร้อนในอีกต่อไปแล้วครับผม
บรรณาธิการที่มีประสบการณ์ในการเขียนรีวิวสินค้าหลายชนิด
- สุขภาพ: อาหารเสริม, ออกกำลังกาย, การดูแลผิวพรรณ
- เครื่องใช้ไฟฟ้า: สมาร์ทโฮม, เครื่องใช้ในครัว, เครื่องใช้ในบ้าน, และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
- ของกิน: ขนมหวาน เครื่องดื่ม, อาหารสุขภาพ, และเทรนด์อาหารอื่น ๆ